วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กฏหมายพรรคการเมือง

กฏหมายพรรคการเมืองตอน2
มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑
(๒) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น
ประมุข ฉบับที่ ๑๕ เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการอื่นใดในทางการเมือง ลงวันที่
๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
(๓) ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น
ประมุข ฉบับที่ ๒๗ เรื่อง การแก้ไขประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ ลงวันที่ ๓๐
กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
(๔) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑๕ เรื่อง ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจการ
อื่นใดในทางการเมือง ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐
(๕) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. ๒๕๔๑ พ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“พรรคการเมือง” หมายความว่า คณะบุคคลที่รวมกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยได้รับ
การจดแจ้งการจัดตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของ
ประชาชนตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมุ่งที่จะ
ส่งสมาชิกเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่น
อย่างต่อเนื่อง
“สมาชิก” หมายความว่า สมาชิกพรรคการเมือง
“ที่อยู่” หมายความว่า ที่อยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
“การบริจาค” หมายความว่า การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็น
เงินได้แก่พรรคการเมือง เพื่อการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
ของพรรคการเมือง หรือของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกเหนือจาก
ค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองตามข้อบังคับพรรคการเมือง
“ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” หมายความรวมถึง
(๑) การปลดหนี้ หรือการลดหนี้ให้เปล่า
(๒) การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย
(๓) การเข้าค้ำประกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม
(๔) การให้ใช้สถานที่ ยานพาหนะ หรือทรัพย์สิน โดยไม่คิดค่าเช่าหรือค่าบริการหรือ
คิดค่าเช่าหรือค่าบริการน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
(๕) การให้ใช้บุคลากรซึ่งมิได้เป็นลูกจ้างหรือผู้รับจ้างของพรรคการเมือง โดยพรรค
การเมือง หรือสมาชิกไม่ต้องชำระค่าจ้างหรือสินจ้าง หรือต้องชำระค่าจ้างหรือสินจ้างเพียงบางส่วน
เว้นแต่การเป็นอาสาสมัครนอกเวลาการทำงานโดยปกติของผู้นั้น
(๖) การให้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้บริการ หรือคิดค่าใช้บริการน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น
โดยปกติทางการค้า
(๗) การให้ส่วนลดในสินค้าหรือทรัพย์สินที่จำหน่าย โดยให้ส่วนลดมากกว่าที่ให้กับบุคคลอื่น
โดยปกติทางการค้า
(๘) การให้เดินทางหรือให้ขนส่งบุคคลหรือสิ่งของโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่าย
น้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
(๙) การจัดเลี้ยง การจัดมหรสพ หรือการบันเทิงอื่นให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่าย
น้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
(๑๐) การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร
กฎหมาย หรือบัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่น โดยปกติทางการค้า
(๑๑) การอื่นซึ่งเป็นการกระทำที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกได้ประโยชน์อื่นใดอันอาจ
คำนวณเป็นเงินได้ หรือไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายซึ่งโดยปกติต้องจ่าย
การดำเนินการตาม (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) หรือ (๑๐) ซึ่งพรรคการเมืองจัดให้แก่สมาชิกและ
มิได้เป็นไปเพื่อการหาเสียงเลือกตั้งให้แก่สมาชิก มิให้ถือว่าเป็นการให้ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณ
เป็นเงินได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง
“นายทะเบียน” หมายความว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

พรรคการเมืองที่ถูกยุบ

การเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ของกรรมการพรรคการเมือง

โดย สุทธิ นิชโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแขวงนนทบุรี

บทความนี้เป็นความเห็นเฉพาะตัวของผู้เขียนไม่ผูกพันผู้ใดต้องเห็นตามด้วย

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยกลางเวลา 13.30 นาฬิกา จนจบคำวินิจฉัยกลางเวลาประมาณ 24.50 นาฬิกา

คำวินิจฉัยกลางนี้ถือว่ามีความยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้มีความละเอียดมาก คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ผู้ร้องได้กล่าวหาและตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าพรรคการเมืองตามลำดับขั้นตอนแห่งข้อกล่าวหาและข้อต่อสู้ของแต่ละพรรคการเมืองชี้ประเด็นให้เห็นถึงการกระทำต่างๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของพรรคการเมืองทั้งห้าพรรคสมเหตุผล หาข้อตำหนิในคำวินิจฉัยกลางไม่ได้เลย

ประชาชนชาวไทยไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และชาวต่างประเทศซึ่งได้รับฟังคำวินิจฉัยกลางของตุลาการรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง ตลอดจนมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงคำวินิจฉัยกลางเอาไว้คงจะทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมือง 4 พรรคการเมือง และไม่ได้ยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ยกคำร้องของผู้ร้องเป็นอย่างดี

ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองตามหัวข้อ

ปัญหาแรกการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นโทษหรือไม่ข้อนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 บัญญัติว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

1.ประหารชีวิต

2.จำคุก

3.กักขัง

4.ปรับ

5.ริบทรัพย์สิน

นอกจากโทษดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ว่า การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นโทษทางอาญา

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.มาตรา 27 วรรค 3 ที่บัญญัติความสรุปว่า เมื่อมีการยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนดเวลา 5 ปี พฤติการณ์ของพรรคการเมือง 4 พรรค คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงเหตุต้องยุบพรรคการเมืองทั้ง 4 พรรค และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี ไว้อย่างละเอียดไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก

เมื่อการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามคำวินิจฉัยกลางของตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โทษทางอาญาความมาตรา 18 จะถือว่าเป็นความผิดอะไร

ผู้เขียนเห็นว่ามีลักษณะเป็น "การทำโทษทางการเมือง" หากเพียงแค่ยุบพรรคการเมืองอย่างเดียวกรรมการพรรคการเมืองยังอยู่อย่างเดิมย่อมไม่เกิดผลอะไรเลย

พรรคการเมืองที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคดังกล่าวสามารถไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ได้อาจจะใช้ชื่อเดิม กรรมการพรรคชุดเดิม หรือใช้ชื่อเดิมไม่ได้ ก็ใช้ชื่อใหม่เพราะกรรมการพรรคยังอยู่

สําหรับการยุบพรรคการเมืองขณะนี้ กกต.ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบแล้วจะใช้ชื่อเดิมได้แต่อีกฝ่ายเห็นว่าใช้ชื่อเดิมไม่ได้สับสนกันไปหมด

นอกจากนี้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลจะไปเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่ตัวพรรคการเมืองได้อย่างไร จะต้องทำโทษกรรมการของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของพรรคการเมือง แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรรมการพรรคการเมืองบางคนแต่เห็นได้ว่าเพื่อเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองนั้น บรรดากรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด

ฉะนั้นเมื่อการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมือง 4 พรรค เป็นการทำโทษมิใช่ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ที่กล่าวมา รัฐธรรมนูญฉบับ คมช.มาตรา 27 วรรค 3 ก็ไม่มีผลย้อนหลังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"

ถ้ามีกรณีที่ คมช.ได้ยกเลิกมาตรา 27 ทั้งหมดหรือรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ได้ยกเลิกไป โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างกันอยู่ การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรค 4 พรรคก็ยังถูกเพิกถอนจนครบกำหนด 5 ปี นับแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

มิได้เป็นดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ถ้าได้มีพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ-แล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้โทษนั้นสิ้นสุดลง"

ยิ่งกว่านั้นจากประสบการณ์ของผู้เขียน เห็นว่า การอภัยโทษหรือขอนิรโทษกรรมนั้น ศาลต้องลงโทษจำคุกผู้นั้นแล้วจึงขอพระราชทานอภัยโทษหรือขอนิรโทษกรรมอันมีผลต่างกันโดยการอภัยโทษทำเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วนนิรโทษกรรมต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ เพราะมีผลให้พ้นจากการกระทำความผิดและถือไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน

เคยมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้มีชื่อท่านหนึ่งถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ผู้มีชื่อท่านนั้นถูกจำคุกประมาณ 3 เดือนจึงได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้ผู้มีชื่อท่านนั้น

จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจะต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลแล้ว

ส่วน 4 พรรคการเมืองจะดำเนินการอย่างไรจะตีความการเพิกถอนสิทธิการเมืองเป็นประการใด รัฐบาล คมช.และสภานิติบัญญัติจะเห็นอย่างไรเป็นเรื่องความเห็นส่วนตัวมีสิทธิแสดงความเห็นได้ทั้งในทางลบและในทางบวกเกี่ยวกับการที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางในเรื่องการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมือง 4 พรรคที่ถูกยุบ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับ อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ว่าควรบัญญัติการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่จะหมดปัญหาไป



ข้อมูลจากมติชน วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10686