วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552

พรรคการเมืองที่ถูกยุบ

การเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ของกรรมการพรรคการเมือง

โดย สุทธิ นิชโรจน์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแขวงนนทบุรี

บทความนี้เป็นความเห็นเฉพาะตัวของผู้เขียนไม่ผูกพันผู้ใดต้องเห็นตามด้วย

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยกลางเวลา 13.30 นาฬิกา จนจบคำวินิจฉัยกลางเวลาประมาณ 24.50 นาฬิกา

คำวินิจฉัยกลางนี้ถือว่ามีความยาวที่สุดในโลกก็ว่าได้มีความละเอียดมาก คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ผู้ร้องได้กล่าวหาและตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาทั้งห้าพรรคการเมืองตามลำดับขั้นตอนแห่งข้อกล่าวหาและข้อต่อสู้ของแต่ละพรรคการเมืองชี้ประเด็นให้เห็นถึงการกระทำต่างๆ ที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายของพรรคการเมืองทั้งห้าพรรคสมเหตุผล หาข้อตำหนิในคำวินิจฉัยกลางไม่ได้เลย

ประชาชนชาวไทยไม่ต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และชาวต่างประเทศซึ่งได้รับฟังคำวินิจฉัยกลางของตุลาการรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง ตลอดจนมีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงคำวินิจฉัยกลางเอาไว้คงจะทราบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยเรื่องยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมือง 4 พรรคการเมือง และไม่ได้ยุบพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ยกคำร้องของผู้ร้องเป็นอย่างดี

ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองตามหัวข้อ

ปัญหาแรกการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นโทษหรือไม่ข้อนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 บัญญัติว่า โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

1.ประหารชีวิต

2.จำคุก

3.กักขัง

4.ปรับ

5.ริบทรัพย์สิน

นอกจากโทษดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดบัญญัติไว้ว่า การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นโทษทางอาญา

ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.มาตรา 27 วรรค 3 ที่บัญญัติความสรุปว่า เมื่อมีการยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ถูกยุบมีกำหนดเวลา 5 ปี พฤติการณ์ของพรรคการเมือง 4 พรรค คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยถึงเหตุต้องยุบพรรคการเมืองทั้ง 4 พรรค และเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองทั้ง 4 พรรคเป็นเวลา 5 ปี ไว้อย่างละเอียดไม่ต้องกล่าวซ้ำอีก

เมื่อการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบตามคำวินิจฉัยกลางของตุลาการรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่โทษทางอาญาความมาตรา 18 จะถือว่าเป็นความผิดอะไร

ผู้เขียนเห็นว่ามีลักษณะเป็น "การทำโทษทางการเมือง" หากเพียงแค่ยุบพรรคการเมืองอย่างเดียวกรรมการพรรคการเมืองยังอยู่อย่างเดิมย่อมไม่เกิดผลอะไรเลย

พรรคการเมืองที่ถูกตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคดังกล่าวสามารถไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ได้อาจจะใช้ชื่อเดิม กรรมการพรรคชุดเดิม หรือใช้ชื่อเดิมไม่ได้ ก็ใช้ชื่อใหม่เพราะกรรมการพรรคยังอยู่

สําหรับการยุบพรรคการเมืองขณะนี้ กกต.ยังมีความเห็นแตกต่างกันว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบแล้วจะใช้ชื่อเดิมได้แต่อีกฝ่ายเห็นว่าใช้ชื่อเดิมไม่ได้สับสนกันไปหมด

นอกจากนี้พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลจะไปเพิกถอนสิทธิทางการเมืองแก่ตัวพรรคการเมืองได้อย่างไร จะต้องทำโทษกรรมการของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ซึ่งถือว่าเป็นผู้แทนของพรรคการเมือง แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกรรมการพรรคการเมืองบางคนแต่เห็นได้ว่าเพื่อเป็นประโยชน์แก่พรรคการเมืองนั้น บรรดากรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งหมด

ฉะนั้นเมื่อการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมือง 4 พรรค เป็นการทำโทษมิใช่ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 18 ที่กล่าวมา รัฐธรรมนูญฉบับ คมช.มาตรา 27 วรรค 3 ก็ไม่มีผลย้อนหลังตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย"

ถ้ามีกรณีที่ คมช.ได้ยกเลิกมาตรา 27 ทั้งหมดหรือรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ได้ยกเลิกไป โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างกันอยู่ การเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของพรรค 4 พรรคก็ยังถูกเพิกถอนจนครบกำหนด 5 ปี นับแต่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

มิได้เป็นดังที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติภายหลังการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไปให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด ถ้าได้มีพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ-แล้วก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้โทษนั้นสิ้นสุดลง"

ยิ่งกว่านั้นจากประสบการณ์ของผู้เขียน เห็นว่า การอภัยโทษหรือขอนิรโทษกรรมนั้น ศาลต้องลงโทษจำคุกผู้นั้นแล้วจึงขอพระราชทานอภัยโทษหรือขอนิรโทษกรรมอันมีผลต่างกันโดยการอภัยโทษทำเป็นพระราชกฤษฎีกา ส่วนนิรโทษกรรมต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ เพราะมีผลให้พ้นจากการกระทำความผิดและถือไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน

เคยมีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมผู้มีชื่อท่านหนึ่งถูกจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ผู้มีชื่อท่านนั้นถูกจำคุกประมาณ 3 เดือนจึงได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้ผู้มีชื่อท่านนั้น

จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดจะต้องโทษจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลแล้ว

ส่วน 4 พรรคการเมืองจะดำเนินการอย่างไรจะตีความการเพิกถอนสิทธิการเมืองเป็นประการใด รัฐบาล คมช.และสภานิติบัญญัติจะเห็นอย่างไรเป็นเรื่องความเห็นส่วนตัวมีสิทธิแสดงความเห็นได้ทั้งในทางลบและในทางบวกเกี่ยวกับการที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกลางในเรื่องการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการพรรคการเมือง 4 พรรคที่ถูกยุบ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนเห็นด้วยกับ อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ว่าควรบัญญัติการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการพรรคการเมืองที่ถูกยุบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่จะหมดปัญหาไป



ข้อมูลจากมติชน วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10686